เกี่ยวกับแมคเลย

About us

ประวัติความเป็นมา ภูมิหลัง


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีความห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรและทหารกองหนุนที่เป็นอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยบริเวณชายแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 500,000 บาท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นกองทุนเริ่มแรกสำหรับการดำเนินงานใน "โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารตามพระราชดำริ" ที่หมู่บ้านบ่อเหมืองน้อย ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย

และทรงมีพระราชดำริให้กองทัพภาคที่ 2 หาแนวทางช่วยเหลือราษฎรในเรื่องอาชีพและรายได้ในพื้นที่หมู่บ้านที่มีความเหมาะสม ที่น่าจะเป็นแหล่งผลิตอาหาร อีกทั้งก็ให้ส่งเสริมให้ราษฎรใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นหลักในการประกอบอาชีพของชาวบ้านต่อไป


หมู่บ้านบ่อเหมืองน้อย เป็นหนึ่งในสองหมู่บ้านเล็กๆตามแนวชายแดนไทย - ลาว ก่อตั้งขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงชายแดนโดยกองทัพภาคที่ 2 และ 3 แต่ละหมู่บ้านมี 75 ครอบครัว และมีการจัดสรรค์พื้นที่ทำกิน จำนวน 10 ไร่ต่อครอบครัว สภาพทั่วไปของพื้นที่เป็นป่าทึบและภูเขาสูงชัน ภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

ด้วยสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลทางกองทัพจึงเล็งเห็นความสำคัญ และนำต้นพันธุ์แมคคาเดเมียจากสถานีทดลองเกษตรที่สูงมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ด้วยแมคคาเดเมียเป็นพืชที่ห่างไกลจากวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นพืชระยะยาวที่ต้องใช้เวลามากกว่า 7 ปีจึงเริ่มให้ผลผลิต ทำให้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่หันกลับไปทำการเกษตรในแนวทางที่ตนถนัด เช่นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เมื่อแมคคาเดเมียเริ่มให้ผลผลิตมากขึ้น ชาวบ้านจึงได้เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่มแปรรูปขึ้น ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อเริ่มผลิตแมคคาเดเมียออกสู่ตลาดด้วยการนำของ กัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม ชาวบ้านซึ่งเกษตรกรนำร่องของกองทัพภาคที่สองในขณะนั้น

กัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย เป็นผู้ที่ริเริ่มการแปรรูปแมคคาเดเมียตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเดิมประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรนำร่องของกองทัพภาคที่สอง โดยเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนั้น และได้ทำตามคำแนะนำของกองทัพ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่แนะให้ปลูกพืชระยะยาวคือ แมคคาเดเมีย ระยะกลาง คือ อะโวคาโด และระยะสั้น คือ กาแฟอราบิก้า เสาวรส และ พืชล้มลุก อย่างสตรอว์เบอร์รี่

กัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม เป็นเกษตรกรรายแรกที่ริเริ่มในการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อยขึ้น โดยการรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้าน และจดทะเบียนขึ้นเป็นกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 เพื่อเริ่มประกันราคาผลผลิตให้กับชาวบ้าน และเชื่มโยงเครือข่ายทางการตลาดเข้ามาในพื้นที่โดยทางกลุ่มเองจะเน้นในเรื่องการแปรรูปแมคคาเดเมียเป็นหลัก

ปัจจุบันทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อยมีการแปรรูปแมคคาเดเมียในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แมคคาเดเมียอบปรุงรส แมคคาเดเมียบด แมคคาเดเมียเคลือบช็อกโกแลต แมคคาเดเมียนัทสติ๊ก และแมคคาเดเมียออยล์ ที่ใช้สำหรับบำรุงผิวพรรณ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันสามารถการันตีได้ว่า การปลูกพืชตามแนวพระราชดำริ สามารถสร้างรายได้ ทำให้มีอาชีพที่มั่นคง และแมคคาเดเมียยังเป็นพืชที่สร้างป่า ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพอยู่ร่วมกับผืนป่าได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

กรรมวิธีการผลิต


การปลูกแมคคาเดเมีย ควรปลูกบนพื้นที่สูงกว่าระกับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป การปลูกควรคละอย่างน้อย 2-4 สายพันธุ์ ในแปลงเนื่องจากแมคคาเดเมียเป็นพืชที่ชอบผสมข้ามสายพันธุ์ ระยะในการปลูกสามารถเลือกได้คือ 5×10 เมตร,8×8 เมตร, หรือ 8 x 10 เมตร ขนาดหลุมปลูก 75 x 75 x 75 เซนติเมตรระยะเวลาในการให้ผลผลิตจะอยู่ที่ 7 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของดิน

การเก็บเกี่ยว


พื้นที่ปลูกเหนือระดับน้ำทะเล ช่วงออกดอก ช่วงเก็บเกี่ยว อายุเก็บเกี่ยว(วัน)
800-1200 ม. พ.ย. - ธ.ค. และ
ก.ค. - ส.ค.
มิ.ย. - ก.ย. และ
เม.ย. - พ.ค.
180 - 240
ต่ำกว่า 800 ม. ธ.ค. - ก.พ. ก.ค. - ก.ย. 180 - 210

การแปรรูปแมคคาเดเมียจะเริ่มต้นจากการกระเทาะเปลือกเขียวชั้นนอกสุดออก จากนั้นจะนำเมล็ดที่เรียกว่า “กะลา” ไปอบให้แห้งเพื่อเตรียมสำหรับการกระเทาะเปลือกในชั้นที่สอง เมื่อกระเทาะกะลาออกเรียบร้อย จะได้เมล็ดแมคคาเดเมียเนื้อแน่นสีขาวนวลซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รับประทาน แมคคาเดเมียสามารถทานได้แบบดิบๆหรือนำไปแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยวได้หลากหลายชนิด

ปัจจุบัน การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย โดยการนำของ กัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม ตลอดระยะเวลา กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน ให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่ได้อยู่ร่วมกับผืนป่าได้อย่างยั่งยืน

จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ปัจจุบันได้มีการขยายและจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขึ้น ภายใต้การสนับสนุสของกองทัพ และได้รับการส่งเสริมจากกรมราชองครักษ์ และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงการปลูก
และแปรรูปแมคคาเดเมีย


โดยการส่งเสริม กรมราชองค์รักษ์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงการปลูกและแปรรูปแมคคาเดเมีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ด้วยความร่วมมือของกรมราชองครักษ์ และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตแมคคาเดเมีย และส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจรทั้งการปลูกและการแปรรูปแมคคาเดเมีย